ไขข้อสงสัย "เล่นเวท ทานโปรตีนจากพืชจะดีไหม ?" 

Last updated: 12 เม.ย 2563  |  4319 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไขข้อสงสัย "เล่นเวท ทานโปรตีนจากพืชจะดีไหม ?" 

เมื่อออกกำลังกาย โปรตีนเสริมแรก ๆ ที่คนจะนึกถึงก็คือ "เวย์ อกไก่ปั่น ไข่ดิบ" ใช่ไหมครับ แน่นอนครับว่าตัวเลือกเหล่านี้คือ ที่สุด ของโปรตีนคุณภาพดีที่คุณจะหาได้ตามท้องตลาด



คำถามก็คือ ถ้าคุณแพ้นม ทานแล้วท้องอืด ไม่ชอบทานเนื้อสัตว์เยอะ ๆ หรือกระทั่งคุณเป็นมังสวิรัติ คุณจะออกกำลังกายแล้วได้หุ่นที่ต้องการได้อย่างไรล่ะ ?



หลายคนบอกว่า ตอนเด็ก ๆ เรียนมา ถั่วให้โปรตีนสูง ใช่เลยครับ แต่ต้องเขียนต่อด้วยว่า และถั่วก็ให้ไขมันสูง(กว่า)ด้วยเช่นกัน ถึงแม้ว่าไขมันในถั่วจะเป็นไขมันดี แต่ไขมันดีหรือไขมันไม่ดี มีผลต่อคลอเรสเตอร์รอลครับ ไม่มีผลต่อพลังงาน แปลว่า ทานถั่วเยอะ ๆ ก็อ้วนอยู่ดี



ครั้นจะไปทาน โปรตีนถั่วเหลือง หลายคนก็ส่ายหน้า ทั้งเรื่อง แพ้ถั่วเหลืองบ้าง รสชาติไม่ดีบ้าง หรือว่ากลัว GMO อีก เลยดูเหมือนว่าโปรตีนจากถั่วเหลืองจะไม่ค่อยนิยมในหมู่คนออกกำลังกายกัน



และแล้วก็มาถึงยุคของ โปรตีนจากถั่วลันเตาสีเหลือง (Pea protein) กันครับ

 

Pea Protein คืออะไรเหรอ ?

pea protein ทำมาจาก ถั่วลันเตาสีเหลือง นำไปอบให้แห้ง ป่นให้เป็นผง ผสมกับน้ำแล้วปั่นแยกเอาส่วนที่เป็นโปรตีนแยกออกมาจากแป้งและเส้นไยแขวนลอยต่าง ๆ จากนั้นนำเอาโปรตีนที่ได้ไปป่นให้ละเอียดอีกรอบตามที่ต้องการ


ดังนั้น pea protein ที่ได้จึงไม่มีสารเคมีตกค้าง และยังมีไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้เหลืออยู่อีกเพียบ โดย pea protein 30 g. จะให้โปรตีนอยู่ 24 g. เลยทีเดียว



pea protein เป็น Complete Protein หรือเปล่า ??




เป็นครับ



ตอบสั้น แต่ อธิบายกันยาวหน่อยนะครับ



เริ่มจาก มาทำความเข้าใจเรื่อง Complete Protein กันก่อนครับ



โปรตีนนั้น ประกอบไปด้วยกลุ่ม amino acids ประกอบกัน ซึ่งโปรตีนก็คือส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อของเราเนี่ยแหละ ร่างกายของคนเราต้องการ amino acids ทั้งหมด 21 ชนิด แต่มีเพียง 9 ชนิดที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ เราเรียกว่า essential amino acids หรือ EAAs ที่เหลือร่างกายสร้างเองได้ ซึ่ง Complete Protein ก็คือ โปรตีนที่มี EAAs ครบทั้ง 9 ตัวนั่นเอง



แน่นอนว่า การทานเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์นั้น ก็เหมือนการทานก้อน amino acids ทั้งก้อนเข้าไป มันก็ต้องให้ amino acids ครบทุกตัวอยู่แล้ว (ไม่งั้นจะกลายมาเป็นเนื้อได้ยังไงล่ะ) ดังนั้น เนื้อ นม ไข่ จึงเป็น Complete Protein อย่างไม่ต้องสงสัย



แต่ ๆ ๆ



มีการแย้งจากนักวิจัยหลาย ๆ แห่งว่า พืชผัก ส่วนใหญ่ ให้ amino acids ไม่ครบ 9 กลุ่มหลัก ดังนั้นไม่จัดเป็น Complete Protein  ซึ่งก็มีนักวิจัยจาก MIT ได้แย้งว่า พืชผักแต่ละชนิด มีโปรตีน "ครบถ้วน" แต่จำนวนมันมากน้อยไม่เท่ากันเท่านั้นเอง แปลได้ง่าย ๆ ว่า พืชแต่ละชนิด amino acids แต่ละตัว มากน้อย ไม่เท่ากัน



อย่างไรก็ดี จากการวิเคราะห์สารอาหารของ Pea Protein พบว่า Pea Protein มีค่า amino acids ใกล้เคียงกับ whey มาก จะต่างกันหลัก ๆ คือ Pea ให้ methionine น้อยกว่า



แล้วมันจะเป็น Complete Protein ได้อย่างไรล่ะ ?



นักวิจัยกลุ่มเดิม (และกลุ่มใหม่ ๆ หลายกลุ่มก็ได้ทดลองซ้ำ) ได้ผลออกมาว่า ไอตัว methionine เนี่ย มันมีอยู่ในอาหารหลักที่เรา ๆ ทานกันอยู่แล้วเพียบ เช่น ข้าว ข้าวโอ๊ต และพืชผักอีกหลายชนิด

แปลว่า โดยปกติ ร่างกายของคนเราได้รับ methionine เยอะแยะอยู่แล้วทุกวัน 



ซึ่งผลการทดลอง โดยการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มนึงทาน whey protein เป็นอาหารเสริม อีกกลุ่มทาน pea protein เป็นอาหารเสริม ทั้งสองกลุ่มควบคุมการออกกำลังกาย การกิน การพักผ่อนให้พอ ๆ กัน


ผลลัพธ์ที่ได้ ลองทายดูไหมครับว่าเป็นอย่างไร ....

...
แน่นอนว่า มวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น มีความหนาแน่นเท่า ๆ กัน




ซึ่งหลายการทดลองจากหลาย ๆ ที่ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาคล้าย ๆ กัน จึงสรุปได้ว่า การทาน pea protein สามารถ "เสริมสร้างกล้ามเนื้อได้จริง ไม่ต่างจาก whey protein"



ข้อดีของ Pea Protein




หลัก ๆ เลยก็คือ "ได้รับการรายงานเรื่อง คนแพ้ถั่วลันเตา น้อยมาก" ครับ ซึ่งน้อยกว่าการแพ้นม แพ้อาหารทะเล แพ้กลูเต็น แพ้ถั่วเหลือง เยอะมากครับ จึงแทบจะเป็นตัวเลือกเดียวสำหรับคนที่มีแนวโน้มแพ้อาหารครับ



Pea Protein เป็นโปรตีนประเภท ดูดซึมปานกลาง แปลว่า ถ้าคุณดื่ม Pea Protein ก่อนนอน amino acids ใน pea protein จะค่อย ๆ เข้าไปเติมกล้ามเนื้อของคุณที่ใช้งานในวันนั้น ให้กลับมาสมบูรณ์ได้ในตอนเช้าโดยไม่ปล่อยให้ร่างกายคุณมีช่วงที่ขาดโปรตีนเลย อีกทั้งไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ใน pea protein ยังช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกในช่องท้องของคุณ ให้ออกมาในตอนเช้าได้อีกด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้